วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมนำเสนอผลการดำเนินงานและรับฟังขอเสนอแนะ


31 ม.ค. 2018    adminipc3    2

วันพุธที่ 31 มกราคม 2561 
วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จัดประชุมนำเสนอผลการดำเนินงานและรับฟังขอเสนอแนะ เพื่อพิจารณานโยบายการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าว
ภายใต้โครงการ “การประเมินความสูญเสียจากเครื่องเกี่ยวนวดข้าว เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” ซึ่งได้ดำเนินการทดสอบเครื่องเกี่ยวนวดข้าวภาคสนามในพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ณ จังหวัดพิจิตร และพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปี ณ จังหวัดร้อยเอ็ด

ซึ่งที่มาและความสำคัญของการศึกษาในโครงการมาจาก ข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญมากทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ประเทศไทยมีปริมาณการเพาะปลูกข้าวประเทศประมาณปีละ 62 – 80 ล้านไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 22 – 30 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี และพบว่า นิยมใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวในการเก็บเกี่ยว และคำนึงถึงความสูญเสียในเชิงปริมาณและคุณภาพไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ความสูญเสียเชิงปริมาณ คิดเป็น 0.26 ล้านตันข้าวเปลือก

การดำเนินการศึกษา การเก็บเกี่ยวที่คำนึงถึงความสูญเสียเปรียบเทียบกับการเก็บเกี่ยวแบบเดิมที่ปฏิบัติ โดยใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวรุ่นเดียวกันทั้ง 2 พื้นที่ (เก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ณ จังหวัดพิจิตร และพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปี ณ จังหวัดร้อยเอ็ด) แล้วพบว่า เปอร์เซ็นต์ความสูญเสีย ความสะอาด และเมล็ดแตกหัก มีเปอร์เซ็นต์ที่ลดลงทั้ง 2 พื้นที่

มูลค่าผลต่างของระบบที่คำนึงถึงความสูญเสีย (เชิงปริมาณและคุณภาพ) นาปรังประมาณ 200 บาทต่อไร่ และนาปีประมาณ 500 บาทต่อไร่ เมื่อคิดพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ยปีละ 71 ล้านไร่ มูลค่าความสูญเสียคิดเป็นเงินมากกว่าปีละ 30,000 ล้านบาท

ข้อเสนอแนะ เช่น การเก็บเกี่ยวที่ใกล้เคียงกับอายุการเก็บเกี่ยว การปลูกเหลื่อมเวลาการเก็บเกี่ยว ให้มีการสีข้าวเพื่อการจำหน่าย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องเกี่ยวนวดข้าวพัฒนามาตรฐานการผลิตให้ดียิ่งขึ้น การกำหนดเกณฑ์ความสูญเสียต่อการรับซื้อ และรณรงค์ 3 ฝ่าย (ชาวนา รถเกี่ยวนวดข้าว ผู้ผลิตรถเกี่ยวนวดข้าว) คำนึงถึงวามสูญเสีย

โดยมี รศ.ดร.วินิต ชินสุวรรณ คณะบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและหัวหน้าโครงการวิจัย เป็นผู้นำเสนอและรับฟังข้อเสนอแนะ และนายติณห์ เจริญใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 นายสิทธิรงณ์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรม แทนผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 นายสิริชัย สุขสะอาด นายวุฒิพงษ์ ดวงพลพรม ผู้แทนศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร จ.ร้อยเอ็ด ผู้แทนสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ประธานบริษัทเกษตรพัฒนาอุตสาหกรรมจำกัด จ.ฉะเชิงเทรา และผู้แทนชมรมรถเกี่ยวนวดข้าวชาละวัน จ.พิจิตร รวมประมาณ 25 ท่าน
ณ ห้องประชุม วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น