Halal Tourism ฮาลาล อนาคตใหม่ของการท่องเที่ยวระดับโลก
Halal Tourism ฮาลาล อนาคตใหม่ของการท่องเที่ยวระดับโลก
แม้นักท่องเที่ยวจีนจะยังคงเป็นกลุ่มนักเดินทางที่สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจในหลายประเทศ พวกเขาเริ่มเรียนรู้มารยาทในการท่องเที่ยวและเริ่มมีอารยะอย่างตะวันตก และยังคงมีประชากรจากแดนมังกรจำนวนมากที่มองว่าการเดินทางไปต่างประเทศเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการแสดงความความร่ำรวยและการมีไลฟ์สไตล์ใหม่ที่เหนือกว่าการเที่ยวผ่านบริษัททัวร์
แต่ในปี 2018 กลุ่มนักท่องเที่ยวที่น่าจับตามองคือชาวมุสลิม
หลังจากการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ 9/11 ทำให้ชาวมุสลิมได้รับการจับตามองในการเข้าสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในแถบยุโรป จุดหมายปลายทางอย่างประเทศในแถบเอเชียจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงกระแสการท่องเที่ยวฮาลาลที่กำลังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะสามารถสร้างมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020 (จากรายงานของ MasterCard และ Crescent Rating) พร้อมด้วยกลุ่มชนชั้นกลางที่ขยายตัวอย่างมากและต้องการท่องเที่ยวเพื่อแสดงไลฟ์สไตล์ในฐานะเครื่องมือแสดงสถานะทางสังคม โดยมีการใช้จ่ายเงินต่อทริปมากถึง 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 70,000 บาทไทย
โรงแรมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ถนนพระราม 9 อย่างโรงแรมอัลมีรอซ (Al Meroz) คือโรงแรมฮาลาลแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อเกิดความต้องการ อุปทานตอบรับอย่างโรงแรมนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับการมาถึงของนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะ โครงสร้างอาคารคล้ายมัสยิด ห้องละหมาด ห้องรับประทานอาหารฮาลาลขนาดใหญ่จำนวน 3 ห้อง ทุกห้องมีลูกศรชี้ทิศกิบลัต ณ นครมักกะฮ์ ผ้าปูละหมาด และอัลกุรอาน สภาพแวดล้อมสวยงามและปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จากรายงานของ Global Muslim Index กล่าวว่ามาเลเซียเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการสร้างการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวมุสลิม ถึงขนาดเปลี่ยนบางส่วนของเมืองกัวลาลัมเปอร์ให้เป็นย่าน Ain Arabia ย่านสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมที่ตั้งอยู่บนถนนบูกิตบินตัง ย่านนี้เรียงรายด้วยร้านอาหารอาหรับและตะวันออกกลาง ร้านแฟชั่นบูธีค โรงแรมสำหรับชาวมุสลิม ร้านตัดผมที่มีช่างชาวบังคลาเทศผู้เชี่ยวชาญสำหรับการตกแต่งหนวดเคราโดยเฉพาะ และห้างสรรพสินค้าที่ครอบครัวจากซาอุดีอาระเบียหรืออาหรับจะใช้เวลาช้อปปิ้งได้อย่างเพลิดเพลิน มีร้านปลอดแอลกอฮอลล์แต่สนุกได้ด้วยการสูบชิชาและดื่มชา ในขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ อย่างประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ ต่างก็กำลังเดินหน้าพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม เช่น ประเทศไทยที่นอกจากจะมีโรงแรมแล้ว รัฐบาลยังมีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยแนะนำร้านอาหารฮาลาลและสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมุสลิมสามารถเดินทางได้ ในขณะที่สถานีรถไฟในไต้หวันก็มีห้องละหมาดและเริ่มมีร้านอาหารฮาลาลเปิดให้บริการในประเทศมากขึ้น
เจ้าของธุรกิจโรงแรมรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอื่นๆ จึงควรเตรียมพร้อมเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อต้อนรับเหล่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อย่างสมบูรณ์
อาหารฮาลาล บริการสำคัญอันดับหนึ่ง ทุกเมนูจำเป็นต้องได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล
สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการละหมาด ชาวมุสลิม 63 เปอร์เซ็นต์ทำละหมาดวันละ 5 ครั้ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อมสรรพ เช่น พื้นที่สำหรับการอาบน้ำละหมาด เป็นต้น
ห้องอาบน้ำ น้ำสะอาดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวมุสลิม การมีพื้นที่ชำระร่างกาย และผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากส่วนผสมจากสัตว์หรือแอลกอฮอลล์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำที่แบ่งชาย-หญิง ห้องออกกำลังกายหรือชายหาดที่แบ่งการใช้งานตามเพศ ตลอดจนพื้นที่ส่วนกลางสำหรับครอบครัว
มุสลิมรุ่นใหม่ ช้อป ชิม แชร์ และเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่น
หนุ่มสาวมุสลิมรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น พร้อมเปิดรับและเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ โดยที่ยังสามารถปฏิบัติตามหลักทางศาสนาได้อย่างครบถ้วน ฟาซาล บาฮาร์ดีน (Fazal Bahardeen) ผู้ก่อตั้ง Crescent Rating กล่าวว่า “ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของชาวมุสลิม (Muslim Tourism) คือผู้คนคิดว่าต้องทำสิ่งที่มุสลิมทำ แต่ไม่ใช่เลย พวกเขาต้องการทำสิ่งที่นักท่องเที่ยวทุกคนทำ ช้อปปิ้ง เดินชายหาด หรือสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น พวกเขาต้องการสนุกเหมือนกับทุกคน เพียงแต่พวกเขาต้องการแน่ใจว่าจะไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องความต้องการทางศาสนาขั้นพื้นฐานของพวกเขาก็เท่านั้น” นี่จึงเป็นที่มาของธุรกิจอย่าง Muslim History Tours บริการพานักท่องเที่ยวไปจิบชาฮาลาลบนเรือครูซล่องในแม่น้ำเทมส์ ทัวร์ขึ้นเขาคิริมันจาโร ตลอดจนการเที่ยวทั้งครอบครัวที่เกาะมาชูปิกชู โดยบริษัท Serendipity Tailormade ที่จะพาไปสัมผัสกับความเป็นท้องถิ่นอย่างแท้จริง พบปะผู้คนและประสบการณ์ใหม่ในท้องถิ่น โดยตลอดทริปจะมีการแบ่งเวลาสำหรับกิจกรรมทางศาสนาอย่างเหมาะสม
ชาวมุสลิมรุ่นใหม่สร้างเทรนด์การท่องเที่ยวผ่านโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง ทั้งในเชิงแนะนำว่าพื้นที่ไหนเป็นมิตรและพื้นที่ไหนไม่เหมาะสม รวมถึงสร้างกระแสเที่ยวคนเดียวก็ลุยได้ จนเกิดเป็นอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือเพจต่างๆ ให้ได้กดติดตาม ยกตัวอย่างผู้หญิงมุสลิมจากอินโดนีเซียอย่างดิอัน เปลังกี (Dian Pelangi) ที่สร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อวงการแฟชั่นและการท่องเที่ยวสำหรับชาวมุสลิม ด้วยจำนวนผู้กดติดตามกว่า 4.8 ล้านคน กับภาพการท่องเที่ยวซึ่งแต่ละที่นั้นล้วนน่าสนใจและชุดคอสตูมแต่ละทริปของเธอก็น่าติดตาม
อีกหนึ่งธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสำหรับชาวมุสลิมคือสปาและการพักผ่อน โปรเจ็กต์ที่น่าจับตามองอย่าง Zulal Destination Spa รีสอร์ทเพื่อการพักผ่อนระดับ 6 ดาวในโดฮา ที่แนะนำตัวเองว่าเป็นรีสอร์ทแรกที่รวบรวมบริการเพื่อการพักผ่อนมาไว้แบบครบวงจร โดยเน้นโปรแกรมการพักผ่อนแบบดั้งเดิมจากสาขาต่างๆ ของอิสลาม ทั้งเรื่องโภชนาการ ความสวยงาม การนวด กลิ่นหอม น้ำ ความสมดุล การฝึกพลังงานในร่างกาย ทั้งนี้โปรแกรมต่างๆ ถูกออกแบบเพื่อรองรับผู้เข้าพักที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ในการพักผ่อนที่ดีที่สุด โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน ปี 2018
CR : TCDC
#ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่3